สรุปประเด็นสำคัญจาก Town Hall ของซิปเม็กซ์ เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2565

September 15, 2022

ซิปเม็กซ์ ขอชี้แจงและสรุปประเด็นสำคัญจากการประชุม Town Hall ตามคำสั่งของศาลสิงคโปร์ ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2565 เป็นประเด็นดังต่อไปนี้ 

การยื่นขอพักชำระหนี้คืออะไร และส่งผลกระทบต่อเจ้าหนี้อย่างไร

เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2565 ศาลได้มีคำสั่งอนุมัติการขอขยายเวลาการพักชำระหนี้ของบริษัทในกลุ่มซิปเม็กซ์ทั้ง 5 บริษัทโดยให้มีผลไปจนถึงวันที่ 2 ธันวาคม 2565 

การพักชำระหนี้ส่งผลหลายประการต่อเจ้าหนี้ ดังนี้

  • บริษัทมีระยะเวลาพอสมควรในการเสนอแผนการปรับโครงสร้าง
  • เจ้าหนี้ไม่สามารถดำเนินการทางกฎหมายหรือเรียกร้องใด ๆ ต่อกลุ่มบริษัทในช่วงเวลาดังกล่าวได้
  • มีผลบังคับใช้กับบุคคลใด ๆ ในประเทศสิงคโปร์ ตลอดจนเจ้าหนี้ที่อยู่ต่างประเทศ
  • ศาลสามารถที่จะอนุมัติให้ขยายระยะเวลาพักชำระหนี้ได้

ทั้งนี้ การสนับสนุนจากเจ้าหนี้อย่างต่อเนื่องจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อให้การปรับโครงสร้างของซิปเม็กซ์ประสบความสำเร็จ

การตัดสินใจเข้าสู่กระบวนการ และข้อมูลอัปเดตสำคัญจากซิปเม็กซ์

ทั้งนี้ ซิปเม็กซ์ได้ดำเนินการ 5 ขั้นตอนหลัก เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ ดังนี้

การกลับมาเปิดให้บริการ Wallet 

ตั้งแต่ซิปเม็กซ์ระงับการถอนสินทรัพย์ดิจิทัลเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม ซิปเม็กซ์ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถกลับมาเข้าถึงสินทรัพย์ดิจิทัลใน Wallet และใช้บริการต่าง ๆ ได้ และได้มีการทยอยโอนสินทรัพย์บางรายการให้กับลูกค้าที่มีสินทรัพย์ดิจิทัลอยู่ใน Z Wallet ได้แก่ SOL, XRP, ADA, ETH, BTC, ZMT และ LTC 

กลุ่มบริษัทกำลังดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถกลับมาใช้งานได้อย่างเต็มรูปแบบ และจะเปิดให้บริการซื้อขายแลกเปลี่ยน (trading) บางส่วนในประเทศอื่น ๆ เช่น อินโดนีเซีย เร็วๆ นี้

การให้ความร่วมมืออย่างต่อเนื่องกับหน่วยงานกำกับดูแลในทุกประเทศที่เราเปิดให้บริการ

ที่ผ่านมา กลุ่มบริษัทมีการติดต่อสื่อสารกับหน่วยงานกำกับดูแลในทุกประเทศที่เราให้บริการ ทั้งสำนักงาน ก.ล.ต. ของประเทศไทย Monetary Authority of Singapore (MAS) ของประเทศสิงคโปร์ และ Bappebti ของประเทศอินโดนีเซีย 

การเปิดรับโอกาสในการลงทุนต่าง ๆ 

หนึ่งในแนวทางการดำเนินงานที่สำคัญเพื่อสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับลูกค้าและเจ้าหนี้ของซิปเม็กซ์ คือการระดมทุน ซึ่งถือว่ามีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก โดยในระยะเวลาอันรวดเร็ว ซิปเม็กซ์ได้รับความสนใจจากนักลงทุนมากถึง 4 ราย และได้มีการทำข้อตกลงร่วมกัน ทั้งในรูปแบบของบันทึกข้อตกลง MOU และ ข้อเสนอแบบไม่ผูกมัด (Non-Binding Offer: NBO) หรือข้อกำหนดแบบไม่ผูกพัน (Non-Binding Term Sheet) 

นอกจากนี้ ซิปเม็กซ์กำลังสรุปข้อสัญญากับนักลงทุน 3 ราย ก่อนที่การทำ Due Diligence หรือการสอบทานบริษัท จะเสร็จสมบูรณ์ โดยตอนนี้ ซิปเม็กซ์คอยติดตามนักลงทุนทั้ง 3 ราย อย่างใกล้ชิดและจะตัดสินใจเลือกว่านักลงทุนรายใดจะได้ร่วมลงทุนในเร็วๆ นี้

การติดต่อสื่อสารกับลูกค้าอย่างต่อเนื่อง

ในส่วนของลูกค้า ซิปเม็กซ์ยืนยันว่าความโปร่งใสในการดำเนินงานคือสิ่งสำคัญที่สุด โดยเรามีการรายงานความคืบหน้าอย่างต่อเนื่องผ่านช่องทางของเรา ทั้ง บนโซเชียลมีเดีย อีเมล เว็บไซต์ของซิปเม็กซ์  รวมถึงการไลฟ์เป็นประจำเพื่อให้ข้อมูลอัปเดตแก่ลูกค้าเป็นระยะๆ นอกจากนั้น เรายังให้บริการลูกค้าตลอด 24 ชั่วโมงทุกวันผ่าน Live Chat และอีเมล 

การแต่งตั้งที่ปรึกษาทางการเงินและที่ปรึกษากฎหมาย

ซิปเม็กซ์ได้แต่งตั้งที่ปรึกษาผู้มีความเชี่ยวชาญในแต่ละประเทศที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

  • ที่ปรึกษากฎหมายของประเทศไทย: Kudun & Partners
  • ที่ปรึกษากฎหมายของประเทศสิงคโปร์: Morgan Lewis Stamford LLC
  • ที่ปรึกษากฎหมายของประเทศอินโดนีเซีย: Hiswara Bunjamin & Tandjung และ
  • ที่ปรึกษาทางการเงิน: KordaMentha

แผนการจัดการ (Scheme of Arrangement) คืออะไร และสาระสำคัญของแผนการปรับโครงสร้างที่นำเสนอ

แผนการจัดการจัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการปรับโครงสร้างหนี้ที่มีอยู่ของซิปเม็กซ์เพื่อให้กลุ่มบริษัทสามารถกลับมาประกอบกิจการได้เต็มศักยภาพ และสามารถเยียวยาเจ้าหนี้ได้ดีที่สุด เมื่อเทียบกับกระบวนการอื่น ๆ

กระบวนการโดยทั่วไปของแผนการจัดการมีดังนี้

  1. ซิปเม็กซ์ยื่นคำร้องขอพักชำระหนี้ต่อศาลเพื่อให้ได้รับการพักชำระหนี้ 
  2. ซิปเม็กซ์จัดทำและเสนอแผนการปรับโครงสร้างหนี้ 
  3. ศาลอนุมัติให้ซิปเม็กซ์ดำเนินการจัดประชุมเจ้าหนี้ 
  4. ผู้ทำแผน (Scheme Managers) จะประกาศให้แก่เจ้าหนี้ทราบ และเปิดให้เจ้าหนี้ยื่นคำร้อง เพื่อให้เจ้าหนี้ลงคะแนนในแผนการปรับโครงสร้างหนี้ต่อไป
  5. หลังจากนั้น ซิปเม็กซ์จะได้รับคำสั่งจากศาล โดยขั้นตอนนี้มีความจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อให้แผนการปรับโครงสร้างหนี้นั้นมีผลบังคับใช้ 
  6. ผู้ทำแผน (Scheme Managers) จะทำงานร่วมกับกลุ่มบริษัทเพื่อดำเนินการตามแผนปรับโครงสร้างหนี้

ขณะนี้ กลุ่มบริษัทซิปเม็กซ์อยู่ในขั้นตอนที่ 2 ซึ่งเป็นการจัดทำและเสนอแผนการปรับโครงสร้างหนี้ (หรือ จัดทำเอกสารสำหรับแผนการจัดการ) ดังนั้น กลุ่มบริษัทยังคงต้องดำเนินการในขั้นต่อไปอีกหลายขั้นตอน อย่างไรก็ดี กลุ่มบริษัทจะพยายามอย่างสุดความสามารถในการรายงานข้อมูลความคืบหน้าเพิ่มเติมต่อไป ในระหว่างกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้นี้

ในส่วนของขั้นตอนต่อไปในกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ เมื่อซิปเม็กซ์ มั่นใจว่าจะมีการลงทุนเกิดขึ้นแล้ว ทีมซิปเม็กซ์จะทำงานร่วมกับที่ปรึกษากฎหมายและที่ปรึกษาทางการเงินเพื่อจัดทำแผนปรับโครงสร้าง และนำมาให้เจ้าหนี้พิจารณาให้การสนับสนุนต่อไป

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับคำถามที่พบบ่อย https://zipmex.com/th/support/moratorium 

ท่านสามารถติดต่อฝ่ายบริการลูกค้าสัมพันธ์ของซิปเม็กซ์ ผ่าน Live Chat ได้ตลอด 24 ชั่วโมงหรือที่

Email: [email protected]

LINE Official: @zipmex 

Facebook: Zipmex Thailand

*สินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยง โปรดศึกษาและลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ศึกษาข้อมูลได้ที่ https://zipmex.com/th/